สพป.มุกดาหาร - สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร
ประชาสัมพันธ์ สพป.มุกดาหาร สพป.มุกดาหาร +(042) 611 532 [email protected]
หน้าแรก e-News ข้อมูลการติดต่อ เข้าสู่ระบบ

สพป.มุกดาหาร ร่วมรับฟังการมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" โดย รมว.ศธ.

โพสต์เมื่อ : 14 ก.ย. 2566 เวลา 16:17 น. IP: 202.29.213.150
แชร์ให้เพื่อน

สพป.มุกดาหาร ร่วมรับฟังการมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" โดย รมว.ศธ.

วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น.
ณ ห้องประชุมสานฝันศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร (สพป.มุกดาหาร)

นายวรรณสิทธิ์ คำเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยเอกอมรรัตน์ ศรีขันธ์ รอง ผอ.สพป.มุกดาหาร พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่ม/หน่วย และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ร่วมรับฟังการมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถ่ายทอดสดจากห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมรับมอบนโยบาย

โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายภายใต้ MOTTO "เรียนดี มีความสุข" ว่า " ทางกระทรวงเราควรจะมี MOTTO ที่เราจะเดินไปด้วยกัน ก็คือ "เรียนดี มีความสุข" ทั้งผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องมีความสุข หากมีความสุขแล้วก็จะทำให้การเรียนดีขึ้น แล้วเมื่อการเรียนดี ก็สนับสนุนให้เขามีความสุขในห้วงต่อ ๆ ไป หากแต่ความสุขไม่ใช่ความสนุกเพียงอย่างเดียว หมายถึงสนุกวันนี้แล้วไปลำบากวันหน้า ไม่อยากให้มี จึงอยากให้เราร่วมมือกัน

ซึ่งกรอบนโยบายในการทำงานมีอยู่ 2 เรื่อง ที่จะเน้นหนัก คือ 1. นโยบายด้านลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะมีหัวข้อประเด็นหลักก็คือ 1.1 ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน 1.2 ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น (โยกย้ายกลับภูมิลำเนา ด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง) 1.3 แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 1.4 จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ (1 ครู 1 Tablet) 2. นโยบายด้านลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง 2.1 เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ "ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน  1 Tablet) 2.2 หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ 2.3 ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต 2.4 การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ 2.5 การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาในระบบ ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และ 2.6 มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)

ทั้งนี้ ในการดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มสุดความสามารถ ด้วยความตั้งใจซื่อสัตย์สุจริต และพร้อมร่วมขับเคลื่อนการศึกษากับทุกท่าน โดยจะดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตรและเพื่อนที่ดีต่อกัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกันที่จะทำงานร่วมกัน ภายใต้แนวทางการทำงานที่ว่า "จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน"

นอกจากนี้ด้าน นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวนำเสนอบทบาทและภารกิจ การจัดการศึกษาในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการต่อ รมว.ศธ. ก่อนการมอบนโยบาย อาทิ วิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า "ภายในปี 2570 ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะที่จำเป็น พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับตัวสอดคล้องกับวิถีชีวิตโลกยุคใหม่" โครงสร้างกระทรวงฯ ข้อมูลพื้นฐานกระทรวงฯ จำนวนผู้เรียนและบุคลากรในสังกัด ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามนโยบายเร่งด่วนกระทรวงฯ ได้แก่ 1. จัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ (MOE Safety Center) มีการรับแจ้งเหตุมาแล้วกว่า 4,600 เรื่อง และแก้ปัญหาแล้วกว่า 2,000 เรื่อง 2. ยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพ 349 แห่ง รวมถึงแก้ไขปัญหาดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในทุกระดับการศึกษา (Learning Loss) การจัดการเรียนรู้เชิงรุกและพัฒนานวัตกรรมแบบ Active Learning ซึ่งกระจายเป็น Sandbox อยู่จำนวน 19 แห่งทั่วประเทศ การพัฒนาทักษะดิจิทัลและภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน 3. สร้างโอกาสทางการศึกษา ที่ได้ดำเนินการค้นหาติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจำนวนกว่า 120,000 คน รวมถึงดำเนินโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ในสถานศึกษา 88 แห่ง มีผู้เรียนกว่า 3,200 คน การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัว ใน 4 รายการ ให้กับผู้เรียนสังกัด ศธ. 9.6 ล้านคน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนชั้นเด็กเล็ก - ป.6 ภาพรวมประเทศ และการส่งเสริมผู้สูงอายุเป็นอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) เพื่อช่วยพัฒนาการศึกษา ซึ่งมีผู้สมัครกว่า 43,000 คน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ เด็กขาดการศึกษาหลายครัวเรือนมีความยากจนไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ ซึ่งมีเจตนารมณ์คล้ายกับ อสม.ของหมู่บ้าน 40,000 กว่าหมู่บ้าน 4. พัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีการขับเคลื่อนทวิศึกษาแนวใหม่ จับคู่สถานศึกษา สพฐ. 163 แห่ง กับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 126 แห่ง มีผู้เรียนกว่า 6,500 คน รวมถึงยกระดับอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในสถานศึกษากว่า 500 แห่ง การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา (Excellent Center) จำนวน 170 แห่ง การ MOU กับกระทรวงแรงงาน จัดอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ผู้เรียนอาชีวศึกษากว่า 23,000 คน การตั้งศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ ศธ. 77 จังหวัด การขับเคลื่อนศูนย์ Fix it Center 500 ศูนย์ และศูนย์อาชีวะอาสาร่วมด้วยช่วยประชาชน เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีจิตอาสาในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และการจัดกิจกรรมผ่านศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนให้กับประชาชนกว่า 280,000 คน 5. ส่งเสริมวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยพัฒนาสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัลรวมทั้งการจัดการเรียนรู้เชิงรุกให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 50,000 คน และได้ร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งมีครูได้รับการปรับโครงสร้างหนี้กว่า 132,000 ราย และการประเมินวิทยฐานะผ่านระบบ DPA 6. พัฒนาระบบราชการและบริการรัฐยุคดิจิทัล ได้พัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ และขับเคลื่อนระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลทางการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน 7. ขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา ได้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และกำหนดแนวปฏิบัติไว้ทรงผมนักเรียน เครื่องแบบนักเรียน เครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี นอกจากนี้ยังมีเรื่องเร่งด่วนที่ทางสำนักปลัดกระทรวงศึกษาต้องเร่งดำเนินการ เรื่องที่ 1. การเสนอพระนาม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์กร UNESCO ประกาศยกย่องเฉลิมฉลอง 100 ปี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพฯ ซึ่งทางสำนักปลัดฯ จะต้องเร่งดำเนินการเสนอรายละเอียดให้แก่ UNESCO ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จึงมีประเด็นขอความกรุณาทาง รมว.ศธ. ได้พิจารณาคือ ด้วยพระองค์มีผลงานมากมาย หากคณะกรรมการมีแต่เพียงกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียว เกรงว่าจะได้ผลงานไม่ครบถ้วนที่จะนำเสนอ จึงนำเรียนต่อ รมว.ศธ. เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาให้หลายกระทรวงร่วมเป็นคณะกรรมการ รวมถึงได้ขอความคิดเห็นจาก รมว.ศธ. ในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการดังกล่าวต่อไป 2. เรื่องที่ต้องดำเนินการในเดือนตุลาคมนี้ การประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมาเป็นประธาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 3. ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ที่ รมว.ศธ. ต้องเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเข้าร่วมประชุม กล่าวถ้อยแถลงในนามรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ซึ่งจัดประชุมในราวเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ปฏิญญาอาเซียน ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่จะต้องขับเคลื่อนพลิกโฉมสู่ดิจิทัล ต้องมีการประชุมอาเซียนบวกสาม ซึ่งทาง รมว.ศธ. อาจเป็นประธานว่าด้วยการศึกษา จากการเลือกตั้งได้ให้ประเทศไทยเป็นประธานคือปี 67 - 68 ซึ่งกำหนดจัดการประชุมฯ 3 ครั้ง ในปีนี้และต้นปีถัดไป


ภาพ/ข่าว/เรียบเรียง : นวิน เข็มทอง
ภาพข่าวเพิ่มเติม : 
https://photos.app.goo.gl/qu4JKViBkTarfoye6

รับชมการมอบนโยบายการศึกษาฯ (ย้อนหลัง) ได้ที่ :
https://www.youtube.com/watch?v=HCAdOavOKhQ

คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
ผู้โพสต์ : นวิน เข็มทอง()
: 672

เนื้อหาหมวดเดียวกัน