สพป.มุกดาหาร - สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร
ประชาสัมพันธ์ สพป.มุกดาหาร สพป.มุกดาหาร +(042) 611 532 office@mdh.go.th
หน้าแรก e-News ข้อมูลการติดต่อ เข้าสู่ระบบ

สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม "การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๘/๒๕๖๕" ผ่านระบบ Video Conference

โพสต์เมื่อ : 5 ต.ค. 2565 เวลา 16:21 น. IP: 122.154.142.74, 122.154.142.74
แชร์ให้เพื่อน

สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม "การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๘/๒๕๖๕" ผ่านระบบ Video Conference

วันพุธที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสานฝันศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร

นายวรรณสิทธิ์ คำเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร นำคณะผู้บริหาร บุคลากรในสังกัด และผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัด สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม "การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๘/๒๕๖๕" ผ่านระบบ Video Conference เพื่อรับฟังคำชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามนโยบาย โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งมอบนโยบาย ประเด็นเร่งด่วน และข้อราชการต่าง ๆ เพื่อให้งานบริหารในสำนักงานเขตพื้นที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกรอบมาตรฐานของ สพฐ. ต่อไป

โดย นายอัมพร พินะสา ได้มอบนโยบายและข้อราชการต่าง ๆ สำหรับต้นปีงบประมาณใหม่ ดังนี้

นโยบายของ สพฐ. ๓ ส่วน
จากที่ได้สื่อสารกับพี่เพื่อนน้องที่เชียงใหม่ว่า ปีที่ผ่านมาและปีนี้ จะเดินอย่างไรร่วมกัน โดยนโยบายของ สพฐ. จะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้

๑. กรอบนโยบาย ๔ เรื่อง
ได้แก่ ๑) ความปลอดภัย ๒) โอกาส ๓) คุณภาพ และ ๔) ประสิทธิภาพ อันเป็นฐานในการขับเคลื่อนนโยบาย

๒. กลุ่มเด็ก (เป้าหมาย) ที่ต้องรับผิดชอบอยู่ ๓ กลุ่ม
ได้แก่ ๑. เด็กด้อยโอกาสและพิการ ๒. เด็กปกติ และ ๓. เด็กที่มีความสามารถพิเศษ จากนโยบายทั้ง ๔ ที่ได้กล่าวไป สุดท้ายที่อยากได้คือคุณภาพผู้เรียนทั้ง ๓ กลุ่ม แต่ไม่ต้องการให้คนทุกกลุ่มนี้ เป็นเป้าหมายความสำเร็จเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กด้อยโอกาสและพิการ ไม่ต้องการให้ไปแข่งขันกับคนในโลกนี้ แต่ต้องการเปลี่ยนจากด้อยโอกาสเป็นได้โอกาส จากพิการให้เป็นปกติ และใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ ส่วนเด็กกลุ่มปกติ สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างปกติ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ แต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษ อย่าปล่อยให้ทิ้งความสามารถพิเศษเขาไว้ ควรไปแข่งขันระดับโลก ต้องต่อยอดไปให้ได้ อยากให้คนทั้ง ๓ กลุ่มนี้ ได้รับโอกาสที่แตกต่างกันไปตามที่ควรจะเป็น และทำอย่างไรจะเข้าถึงตรงนี้ได้ ตรงนี้คือกลุ่มประชากรที่เป็นภารกิจ จากการสื่อสารที่เชียงใหม่ที่ผ่านมา

๓. มิติพื้นที่
ต่อมาสื่อสารว่า เด็ก ๓ กลุ่มนี้ไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เขามีภูมิลำเนาที่ต้องอยู่ หมายความว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานของเรา นอกจากมองมิติเด็กแล้ว มองมิติเชิงนโยบายแล้ว จะต้องไม่ทิ้งมิติพื้นที่ ผอ.เขต ต้องเข้าใจบริบทพื้นที่ตรงนี้แตกต่างกัน ตนได้จำแนกพื้นที่ประเทศไทยออกเป็น ๔ ส่วน คือ ๑. พื้นที่สูงและพื้นที่เกาะ ต้องทำให้เขาเหล่านั้นได้โอกาสได้เรียนรู้ เนื่องจากกว่าจะเดินทางมาเรียนได้ หากมาเรียนไม่ได้ ก็จัดให้เรียนตามหย่อมบ้าน โดยส่งครูขึ้นไป หากส่งไปไม่ได้ ก็ให้เด็กมาโรงเรียนพักนอน ผอ.เขต ต้องดูบริบทพื้นที่ว่าอยู่ในพื้นที่ใด ๒. พื้นที่ราบและพื้นที่ปกติ โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน จะเห็นได้ว่าโรงเรียนห่างกันไม่เกิน ๑ กม. แต่ละโรงเรียนก็มีเด็ก ๓๐ - ๔๐ คน พอครูเกษียณก็ไม่มีมาทดแทน และจะจัดการอย่างไร กับการบริหารโรงเรียนเหล่านี้ จึงจะทำให้เด็กได้รับโอกาส มีคุณภาพอย่างที่เราคาดหวัง ๓. กรุงเทพและปริมณฑล หรือสมุทรปราการ ก็มีคนต่างชาติ คนไทยบางส่วนไปเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง แต่คนที่ขาดโอกาส ต้องเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน โรงเรียนที่เคยใหญ่ก็กลายเป็นเล็ก ส่วนโรงเรียนเล็กพื้นที่น้อย ปัจจุบันกลายเป็นแข่งขันสูงพื้นที่ไม่มี ซึ่งการจัดการศึกษาในพื้นที่นี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ๔. พื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูผิวเผินทางการศึกษา ดูเหมือนว่ามีคนจัดการให้มาก มีโรงเรียนศาสนาเยอะ ไม่มีกติกายุบควบรวมโรงเรียนในพื้นที่เหล่านี้ มีเด็กเท่าไรก็เป็นโรงเรียนอยู่ แต่สิ่งที่จะขับเคลื่อนชายแดนใต้ วันนี้เห็นภาพความสำเร็จที่อยากให้ทำอยู่ ๒ เรื่อง คือ ๑. ทำอย่างไรโรงเรียนประชารัฐ หรือโรงเรียนกินนอนในภาคใต้ จะเพิ่มจำนวนโรงเรียนได้มากขึ้น หรือจำนวนเด็กในโรงเรียนได้มากขึ้น แล้วทำอย่างไรโรงเรียนที่เพิ่มมา ต้องสอนศาสนาอย่างเข้ม อิสลามอย่างเข้มในโรงเรียนเหล่านี้ และเติมเรื่องภาษาไทยเข้าไป และสร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้เห็นโอกาสกับการมาเรียนตรงนี้ นี่คือพื้นที่ที่ตนอยากให้เกิดว่าแต่ละพื้นที่ต้องบริหารท่ามกลางบริบทคนละอย่าง

๔. หน้าที่ของเขตพื้นที่ ๔ เรื่อง
อย่างไรก็ตามภายใต้พื้นที่นโยบายและเด็ก ตนสื่อสารที่เชียงใหม่ไว้ว่า เรามีหน้าที่ที่ต้องทำสิ่งต่อไปนี้ร่วมกัน ๔ เรื่อง ซึ่งทุกเขตพื้นที่อาจจะต้องเจอสถานการณ์ร่วมกันคือ
๑. โครงสร้าง เขตพื้นที่จะได้รับภาระที่เคยส่งต่อให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทน คือการมี อกคศ. เขตพื้นที่ ต้องเตรียมตัวออกแบบการทำงานใหม่ ขอให้ ผอ.เขต รองรับการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และเป็นความท้าทายอย่างมากในเรื่องของการดำเนินงาน ผอ.เขต ต้องทำให้เห็นว่าภาระนี้เป็นของเรา และเราจะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด เหมือนที่ตนเคยพูดไว้ว่า "เขตพื้นที่ต้องสร้างคุณค่า ให้ตัวเองเห็นว่าขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีก็ได้" ความเป็น ผอ.เขต คือโอกาสในการเปลี่ยนประเทศ ตนฝากความหวังและความตั้งใจกับพี่เพื่อนน้องทุกคนว่า "วันนี้คือโอกาสในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ต้องทำให้มีพลังและมีคุณค่า"
๒. บุคคล เป็นโจทย์ที่เราเองอยู่ภายใต้ภาวะที่ต้องเผชิญ คือ คปร. ได้กำหนดกรอบการบริหารงานบุคคล ภายใต้ข้อจำกัดแต่เขตพื้นที่ต้องบริหารจัดการบุคคลอย่างไร จึงไปตอบโจทย์ความสำเร็จตามกรอบนโยบายทั้ง ๔ ภายใต้คนที่มีจำกัดแต่ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จให้ได้ คือความท้าทายต่อมา
๓. เงินและงบประมาณ เงินงบประมาณในปีนี้ สพฐ. จะพยายามผลักดันกระจายงบประมาณไปยังเขตพื้นที่ให้ได้ปีนี้เฉลี่ยเขตละประมาณ ๕ ล้าน (ปีที่ผ่านมาได้ประมาณ ๔.๗ ล้าน) ในส่วน ๓ แสน เป็นเงินที่ให้เขตพื้นที่ลงสู่การปฏิบัติบริหารจัดการให้ได้ แต่เงินไม่จำเป็นต้องอยู่ที่งบประมาณ เงินอยู่กับพื้นที่กับองค์กรกับการมีส่วนร่วม เขตพื้นที่สามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ อยากให้ ผอ.เขต ได้มองนอกกรอบการทำงานทั้งโครงสร้าง บุคคล และเงินงบประมาณ
๔. การบริหารจัดการ การบริหารจัดการที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทั้งหลาย ซึ่งตนเชื่อว่าหากเรามีวิธีการไม่จำนนต่อสิ่งที่เป็นอยู่ เรามีเทคนิคขับเคลื่อนไปได้ ตนยืนยันว่าการบริหารจัดการถือว่าพื้นที่เป็นฐาน นวัตกรรมขับเคลื่อน และโรงเรียนคือตัวชี้วัดความสำเร็จของเขตพื้นที่ ซึ่งการบริหารจัดการที่จะสื่อสารคือ นักเรียนตอบโจทย์ครู นักเรียนมีคุณภาพก็ต่อเมื่อครูมีคุณภาพ ครูมีคุณภาพก็ต่อเมื่อผู้บริหารโรงเรียนบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ โรงเรียนมีคุณภาพคือตอบโจทย์เขตพื้นที่บริหารจัดการที่มีคุณภาพ ส่วนนี้คือเกณฑ์ PA ที่อยากเห็นและคาดหวัง เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการแนวใหม่ของเขตพื้นที่ ไม่ต้องการให้เอาครูออกมาจากโรงเรียน แต่ต้องการให้เคลื่อนตัวจากเขตพื้นที่ลงไปปฏิบัติร่วมที่โรงเรียน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และใช้ PLC ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นหลัก

๕. หน้าที่ของเขตพื้นที่
มีสิ่งที่อยากให้ทำ ๓ เรื่อง ได้แก่ ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล เขตพื้นที่ต้องรู้ว่าโรงเรียนแต่ละโรงเรียนนั้น จะต้องใช้คำว่า "ส่งเสริม สนับสนุน หรือ กำกับดูแล" โรงเรียนไหนมีความพร้อมที่จะโต แค่ไปส่งเสริมเขาก็ไปต่อได้ มีกี่โรงเรียนที่ไหนบ้าง มีกี่โรงเรียนที่ต้องสนับสนุน มีกี่โรงเรียนที่ต้องกำกับดูแล และกำกับดูแลอย่างไร สุดท้ายจะเห็นภาพว่าโรงเรียนไหนที่เข้มแข็ง เราแค่ส่งเสริม สนับสนุน แต่โรงเรียนไหนอ่อนแอ เราต้องไปกำกับดูแล อยากให้ ผอ.เขต ต้องมีข้อมูลเพื่อเติม ๓ สิ่งนี้

๖. ทำอย่างไร ?
ตนได้สื่อสารจากการประชุมที่เชียงใหม่ที่ผ่านมาแล้ว ในเรื่องของกรอบนโยบายทั้ง ๔ เรื่อง ว่าทำอย่างไร เราอยากเห็นอะไร เพราะอยากให้ท่านแสวงหาวิธีการที่จะลงมือปฏิบัติ

๗. จุดเน้นที่ ๑ การบริหารจัดการเขตพื้นที่
เขตพื้นที่ต้องเข้าใจตรงกันว่า สนามรุกคือสถานศึกษา แต่ภารกิจคือส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล ให้สถานศึกษามีความเข้มแข็ง นั่นคือความสำเร็จของเขตพื้นที่

๘. จุดเน้นที่ ๒ การบริหารจัดการสถานศึกษา
โดยจำแนกโรงเรียนออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ๑) โรงเรียนขนาดเล็ก ๒) โรงเรียนคุณภาพ (ตำบล อำเภอ จังหวัด) ๓) โรงเรียนในโครงการพระราชดำริ ๔) โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอื่น ๆ (CONNEXT ED) พื้นที่นวัตกรรม ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่จะต้องส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล ให้ถูกต้องในแต่ละบริบทโรงเรียน ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่สามารถจำแนกได้มากกว่า ๔ ประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่

๙. จุดเน้นที่ ๓ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน
ความยากลำบากของการดูแลนักเรียนนั้นแตกต่างกว่าอดีตมาก เพราะแต่ก่อนจัดให้เฉพาะคนอยากเรียน คนอยากรู้ คนอยากเป็น แต่ปัจจุบันต้องจัดให้กับทุกคน ไม่อยากก็ต้องกิน เพราะโรงเรียนไม่ใช่แหล่งเรียนรู้เหมือนอดีต แต่เป็นบ้านหลังที่สองของเด็ก ต้องเปลี่ยนครูให้เป็นพ่อแม่ ให้ความรักความอบอุ่น เพราะสังคมในวันนี้พึ่งเรา ซึ่งเขตพื้นที่เวลาไปหาครู อยากรู้ว่าครูเก่งมีหรือไม่ ให้ดูที่การดูแลนักเรียน ตามองค์ประกอบทั้ง ๓ ได้แก่ ๑) ชีวิต ความเป็นอยู่ (กินอิ่ม นอนอุ่น เรียนอย่างมีความสุข) ๒) การจัดการเรียนรู้ (คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น) ๓) ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ ซึ่งตนคิดว่าความสุขเกิดขึ้นแน่นอนในโรงเรียน

๑๐. จุดเน้นที่ ๔ การดูแลครูและบุคลากร
ต้องดูแลครู บุคลากร ให้มีความสุข หากมีความทุกข์ โรงเรียนก็ไม่สามารถมีความสุขได้ จึงอยากให้เขตพื้นที่เริ่มดูแลเรื่องแรก คือ
๑) การจัดสรรอัตรากำลัง ทำอย่างไรจึงจัดสรรอย่างเป็นธรรม
๒) การเกลี่ยอัตรากำลัง จากโรงเรียนที่เกิน เกลี่ยไปให้โรงเรียนที่ขาดได้อย่างไร ด้วยเทคนิควิธีการไหน
๓) การบรรจุและแต่งตั้ง วันนี้เมื่อมี อกคศ. เขตพื้นที่ ต้องดำเนินการให้รวดเร็ว
๔) การมีและเลื่อนวิทยฐานะ ปีนี้เป็นปีท้าทาย PA ซึ่งหลายเขตพื้นที่ใส่ใจและให้ความสำคัญ ซึ่งการประเมิน PA จะต้องลดกระดาษ ประเมินจากสภาพจริง แต่ในความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ตนอยากให้เขตพื้นที่ไปจำลองโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง ว่าเขาได้รับเกณฑ์ PA ไปแล้ว การประเมินครู ประเมินตามสภาพจริงหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วต้องใช้เอกสารจัดแฟ้มมานำเสนอให้กรรมการไปนั่งดูอยู่เหมือนเดิม แท้จริงแล้วต้องการให้กรรมการไปดูที่ห้องเรียน ดูที่ผู้เรียน ว่าเด็กมีคุณภาพจริงหรือไม่ มิใช่ดูที่กระดาษ จึงอยากสื่อสารกับ ผอ.เขต ว่า สพฐ. ห่วงใยต่อการประเมิน PA แล้วส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของครู จึงอยากสื่อสารว่า ถ้าโรงเรียนใดยังไม่พร้อม อย่าพึ่งประเมิน ตอนนี้ สพฐ. กำลังร่วมกับ กคศ. ให้มีวิทยากรประจำเขต เขตละ ๑๐ ท่าน ซึ่งจัดอบรมในเดือนตุลาคมนี้ แต่วันนี้มีวิทยากรที่เป็นผู้รู้นอกระบบ ไปจัดการอบรมและลงทะเบียนเสียค่าใช้จ่าย และเชื่อตามกัน ทำตามกัน ตรงนี้อยากให้ท่านชะลอก่อน รอความชัดเจนและทำไปพร้อม ๆ กัน
๕) ความก้าวหน้าและความมั่นคง ขณะนี้เรามีพนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง อยากให้ท่านดูแล ต่อยอด รวมไปถึงครูบรรจุใหม่ ต้องให้ความสำคัญและต่อยอด
๖) สวัสดิการและหนี้สินครู เป็นหนึ่งในนโยบายที่ท่านรัฐมนตรี อยากให้ทุกโรงเรียนทุกเขตพื้นที่ ได้ดูแลใส่ใจ เพราะไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่พอมีหนี้ก็ไม่มีใครไม่อยากใช้หนี้ แต่พอเงินมีจำกัด วันนี้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา อยากให้ ผอ.เขต ทำสถานีแก้หนี้ครูให้เห็นเป็นรูปธรรม
๗) ความรับผิดชอบของบุคลากรต่องานในหน้าที่ หมายถึงว่า โรงเรียนจะดีหรือไม่ อยู่ที่ผู้บริหารมีความรับผิดชอบ มุ่งมั่นทุ่มเท เอาจริงหรือไม่ เขตพื้นที่จะมีคุณภาพ ขึ้นอยู่กับ ผอ.เขต เอาจริงหรือไม่ ตนเองก็เช่นเดียวกัน หากไม่เอาจริง ก็ดูแล สพฐ. ไม่ได้ โดยพื้นที่เป็นฐาน หากใครดูแลพื้นที่ตนเองไม่เรียบร้อย ไม่พัฒนา มีแต่ปัญหา ท่านต้องรับผิดชอบในพื้นที่ หากเขตใดละเลยจนเขตมีปัญหา โรงเรียนมีปัญหา สพฐ. อาจจะมีพื้นที่ให้ ผอ.เขต มาประจำที่ สพฐ. แต่ถ้าเขตไหนรับผิดชอบและสำเร็จ ก็ควรได้รับรางวัลที่ดีและผลตอบแทนที่มีคุณภาพ

๑๑. จุดเน้นที่ ๕ การแสวงหาการมีส่วนร่วม
วันนี้เราต้องแสวงหาการมีส่วนร่วม ต้องคิดว่า โรงเรียน เขตพื้นที่ เป็นของทุกคนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโรงเรียน ต้องแสวงหาการมีส่วนร่วมและทำให้ทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเขามีพลัง ศิษย์เก่าต้องมีความภาคภูมิใจที่ได้เรียนโรงเรียนนี้ ชุมชน ผู้ปกครอง ต้องพึงพอใจในการเอาลูกมาเรียนที่โรงเรียนนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าโรงเรียนนี้มีคุณภาพ หน่วยงานภาคเอกชน อยากมามีส่วนร่วม เพราะเห็นโรงเรียนนี้ทำเพื่อเด็ก เพื่อชุมชน หน่วยงานภาครัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไม่ต้องจัดการศึกษาแข่งกัน แต่มีโอกาสมาสนับสนุน แต่ดำเนินงานร่วมกัน สิ่งที่ตนสื่อสารกับ ผอ.เขต ในวันนี้ อยากให้เป็นจุดเริ่มต้น ในการที่ท่านจะนำไปวิเคราะห์ ไปตรวจสุขภาพเขตของท่าน ตรวจสุขภาพโรงเรียนแต่ละโรงเรียน ว่ามีอาการป่วยหรือเข้มแข็งอย่างไร แล้วจะไปรักษา ต่อยอด สร้างความเข้มแข็ง ให้แต่ละส่วนอย่างไร อยากให้นำสิ่งที่ตนสื่อสาร ไปออกแบบ แล้วตรวจสุขภาพองค์กร และออกแบบพัฒนาองค์กร ไปสู่องค์กรที่เข้มแข็ง แล้วก็ขอสื่อสารว่า สพฐ. ยังยืนหยัดที่จะไปสู่เป้าหมายเดิมก็คือ คุณภาพ พื้นที่เป็นฐาน นวัตกรรมขับเคลื่อน

จากนั้น คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ของ สพฐ. พบปะพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่อง "การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาระดับเขตพื้นที่ ด้วย KPI การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สพฐ."
นางสุชาดา สภาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน เรื่อง "ชี้แจงแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา"
นางสาวลิลิน ทรงผาสุก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เรื่อง "ตัวชี้วัดตามนโยบายเร่งด่วน QUICK POLICY สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖"
นายสุรินทร์ สว่างอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน "ชี้แจงการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ"

 

ดูภาพข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://photos.app.goo.gl/G6Nd3DqMb9jgnrcc7

เนื้อหาหมวดเดียวกัน

ข้อมูลการขับเคลื่อนคุณธรรมความโปร่งใส : 2566( ITA Online 2023)