สพป.มุกดาหาร - สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร
ประชาสัมพันธ์ สพป.มุกดาหาร สพป.มุกดาหาร +(042) 611 532 office@mdh.go.th
หน้าแรก e-News ข้อมูลการติดต่อ เข้าสู่ระบบ

สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม การประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารงานบุคคล เพื่อรองรับ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา

โพสต์เมื่อ : 29 พ.ย. 2565 เวลา 19:19 น. IP: 2001:fb1:117:3465:9d5:97da:487
แชร์ให้เพื่อน

สพป.มุกดาหาร เข้าร่วม การประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารงานบุคคล เพื่อรองรับ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา

วันอังคารที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมเสมาสัมพันธ์ สพป.มุกดาหาร

นายวรรณสิทธิ์ คำเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร นำคณะผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม "การประชุมทางไกล ชี้แจงแนวทางการบริหารงานบุคคล ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อรองรับ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ผ่านช่องทาง Zoom Meeting" โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการประชุม และมอบนโยบายด้านการบริหารงานบุคคล

นายอัมพร พินะสา ได้ชี้แจงนโยบายและข้อราชการในหลายประเด็นแก่ผู้ร่วมประชุม ดังนี้
#ก่อนเริ่มวาระสำคัญด้านการบริหารงานบุคคล
๑. สื่อสารเกี่ยวกับกรอบทิศทางการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่การทำแผนปฏิบัติการประจำปี รวมถึงแผนสู่การปฏิบัติ และการประเมินติดตามใช้กรอบ PMQA เพื่อเป็นกรอบดำเนินการ
๒. ให้ผอ.เขตฯ ดูแลใส่ใจ คำของบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่ง สพฐ. มีความจำเป็นต้องส่งสำนักงบฯ ในเดือนธันวาคม ซึ่ง สพฐ. ได้แจ้งการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ไปให้ เขตฯ อยากให้ ผอ.เขตฯ วางยุทธศาสตร์ ตั้งแต่กระบวนการจัดตั้งคำขอฯ ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ค่าครุภัณฑ์ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่ได้แจ้ง และอยากให้ดำเนินการให้ทันเวลาที่กำหนด ซึ่งจากปีงบประมาณที่ผ่านมาส่วนมากจะใช้วิธีการตั้งงบประมาณโดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่อยากให้ ผอ.เขต ออกแบบการดำเนินการในระยะยาว ไม่ว่าเรื่องสวัสดิการครู บ้านพักครู หรือการดำเนินงานขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพ เพื่อเป็นเป้าหมายในการดำเนินงาน ส่วนครุภัณฑ์ สำนักงบฯ คอมเมนต์ว่า เหตุใดขอรถจึงไม่ได้ คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่า พวกเรานั้น เมื่อได้รับของแล้ว ส่วนใหญ่ลงทะเบียนเสร็จไม่กำหนดอายุการใช้งานของครุภัณฑ์แต่ละประเภทไว้ และไม่มีการจำหน่ายออกจากทะเบียน ทำให้ทุกอย่างค้างอยู่ ทำให้ไม่ขาดแคลน ซึ่ง สำนักงบฯ ชี้ให้เราทำให้ถูกต้อง ๓ อย่าง ได้แก่ ๑) ขอให้ทันเวลา ๒) ถูกต้องตามแบบฟอร์ม ๓) ไม่ใช่เขียนแต่ความต้องการ แต่ไม่ได้บอกความจำเป็นว่าทำไมตั้งงบประมาณ ถ้าไม่ได้จะเสียหายอย่างไร
๓. เมื่อวานนี้ (๒๘ พ.ย. ๒๕๖๕) มีข่าวการนำประกาศโครงสร้างของหลักสูตร ๕๑ ปรับปรุง ๖๐ ในส่วนรายวิชาประวัติศาสตร์ ขออนุญาติสื่อสารว่าการปรับคราวนี้ ไม่ได้เพิ่มตัวชี้วัด มาตรฐานในหลักสูตร แต่เพียงแยกเอาวิชาประวัติศาสตร์ ออกจากกลุ่มสาระสังคมเท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ได้ตอบโจทย์ในประเด็นที่สังคมคาดหวัง หรือไม่ได้ตอบโจทย์ในสิ่งที่ให้ทุกคนเห็นคุณค่าของความเป็นไทย ทั้งมิติวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี รวมไปถึงความเป็นมาของชุมชน ความเป็นมาของอารยธรรม สิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายที่มี ไม่ว่าจะเป็นอาหารก็ดี ในอดีต ซึ่งขาดหายไป ต่อไปในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ จะเป็นกรอบในการนำไปเป็นหลักในการบูรณาการทุกวิชา ยกตัวอย่างเช่น วิชาเกษตร หากเราจะทำเรื่องเกษตรในชุมชนใด เราควรจะเรียนรู้อดีต พ่อแม่ ชุมชน สังคม ทำเกษตรอะไรในอดีต และประสบปัญหาเรื่องอะไร ประสบความสำเร็จเรื่องอะไร และปัจจุบันทำอยู่มากน้อยแค่ไหน ทำอย่างไรจึงจะมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนไปในอนาคต แม้แต่งาน APEC ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ท่านนายกฯ ได้มอบชะลอมแก่แขกต่างประเทศ ถ้าเราเอาประวัติศาสตร์ไปจับว่า ชะลอมนี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำที่ไหน ทำจากอะไร และทำไมถึงใช้ชะลอม เพราะอะไร ซึ่งเหตุที่ประกาศออกมาในตรงนี้ เพื่อให้วิชาประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่ได้รับความสำคัญ และได้รับการพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อแยกประวัติศาสตร์ออกมาแล้ว ทางสถาบันอุดมศึกษาก็จะได้มีการผลิตคุณครูที่สอนประวัติศาสตร์โดยตรง ซึ่งปัจจุบันนี้ครูผู้สอนก็จะเป็นเอกสังคม ไม่ได้สอนประวัติศาสตร์ในเชิงลึกที่เข้าใจในรากเหง้าของวัฒนธรรมที่แท้จริง แล้วจากนั้นก็ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนใหม่ เปลี่ยนการวัดและประเมินผลแนวใหม่ รวมไปถึงการนำประวัติศาสตร์เข้าไปบูรณาการกับทุกวิชา เพื่อสุดท้าย ต้องการคนไทย ที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย และมาปรับปรุงต่อยอดเพื่อเป็นทรัพยากรของโลกในอนาคต อันเป็นเจตนารมณ์ ซึ่ง สพฐ. จะมีกรอบแนวทางให้กับทาง สพท. ฝากท่าน ผอ.สพท. ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบด้านประวัติศาสตร์ ได้ติดตามในการดำเนินงาน เพื่อให้ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ให้มีคุณค่าต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชาติไทย
๔. งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน (ครั้งที่ ๗๐) ที่ประชุมเมื่อวานนี้ (๒๘ พ.ย. ๒๕๖๕) ได้เห็นชอบในแนวทางของการจัดงานศิลปหัตถกรรม สำหรับปีนี้ มีการจัดรูปแบบกิจกรรมที่ได้กำหนดแนวทางไปแล้ว แต่ปีหน้าอาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เป็นการแข่งขันในงานศิลปะต่าง ๆ ถ้าสามารถเอาเรื่องราวประวัติศาสตร์แต่ละประเด็นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมก็อยากให้ทำด้วย เช่น ประกวดการพูด หรือการนำเสนอ หรือการแสดงต่าง ๆ ก็ให้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ชุมชน สังคม ก็จะเป็นสิ่งที่ดี

#วาระสำคัญการประชุมในวันนี้ (Highlight)
๑. การดำเนินงานบริหารงานบุคคล ภายใต้ พรบ. ที่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งยกเลิก คำสั่งที่ ๑๙ ก่อนอื่น ถ้าเราพูดถึงการบริหารงานบุคคล ตาม พรบ. ใหม่ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เป็นเรื่องเก่าที่เคยปฏิบัติกันมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีเขตพื้นที่การศึกษา ก็มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ตั้งแต่ต้น เมื่อปี ๔๗ และดำเนินการโดยตลอด จนมาถึงมีคำสั่งที่ ๑๙ ให้เอาอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขต มาเป็นอำนาจของ กศจ. พอถึงวันนี้ การดำเนินงานภายใต้แนวดำเนินการเดิมมีปัญหาอุปสรรค จึงยกเลิก กลับคืนไปเป็น อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นวันนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในคราวนี้มีอยู่เรื่องเดียวคือ องค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่บทบาทอำนาจหน้าที่เหมือนเดิมทุกประการ แต่อย่างไรก็ตาม ก็อยากเรียน ผอ.เขตทั่วประเทศว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า แต่มาปรับคืนสู่สภาพเดิม แต่เนื่องจากวันนี้ บุคลากรที่ทำหน้าที่ตลอดเวลาที่มาเป็น กศจ. เขตพื้นที่เราเอง ทำหน้าที่เหมือนไปรษณีย์อยู่ส่วนหนึ่ง และเราก็พบว่า เจ้าหน้าที่ของกลุ่มบริหารงานบุคคลที่ปฏิบัติงานในปัจจุบัน หลายคนก็พึ่งเป็น ผอ.กลุ่ม เมื่อเข้าโครงสร้าง กศจ. แต่ไม่ได้เป็น ผอ.กลุ่มที่เป็นเขตพื้นที่ อยู่จำนวนหนึ่ง ประกอบกับท่าน ผอ.เขต ที่ปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน ร้อยละ ๙๐ เป็น ผอ.เขตที่อยู่หลังจากคำสั่ง ๑๙ แล้ว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในรายละเอียดการปฏิบัติ วันนี้ผมจึงมอบภารกิจตรงนี้ให้กับท่านรองพัฒนะ กับ ผอ.สพร. ไปดำเนินการเพื่อรองรับการดำเนินงานในส่วนนี้
๒. เมื่อยกเลิกคำสั่ง คือ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ ท่านต้องศึกษาองค์ประกอบของคณะ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยชุดใหม่นี้ ให้เป็นอำนาจของ ก.ค.ศ. ในการกำหนดองค์ประกอบและหลักเกณฑ์วิธีการได้มา ซึ่งขณะนี้ ก.ค.ศ. ได้ออกหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ซึ่งองค์ประกอบมีทั้งหมด ๑๑ คน โดยหลักของการออกแบบตรงนี้ใช้หลัก ๓ เส้า เพื่อให้คานอำนาจซึ่งกันและกันของ ๓ ฝ่าย โดยกลุ่มที่ ๑ เรียกว่า คณะอนุกรรมการผู้แทน (ผู้แทน กศจ. , นายอำเภอ/ผู้แทน , ผู้แทน ก.ค.ศ.) เรียกตรงนี้ว่า การได้มาโดยตำแหน่งที่ได้รับมอบ มีทั้งหมด ๓ คน ต่อมากลุ่มที่ ๒ เรียกว่า อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ข้าราชการในสังกัดหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ ๓ ด้าน (ด้านบุคคล , ด้านกฎหมาย , ด้านการศึกษา/อื่น ๆ) กลุ่มที่ ๓ คือ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มาจากผู้แทนของบุคลากรที่อยู่ในระบบ เพื่อเป็นตัวแทนในการบอกกล่าวกับองค์ประชุมว่ามีปัญหาอะไร มีความพึงพอใจ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยเรื่องอะไร โดยมี ๓ เสาหลัก (ครู , ผู้บริหารสถานศึกษา , บุคลากรทางการศึกษาอื่น) ก็จะได้มาถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แล้วกำหนดให้ ผอ.เขต เป็นเลขานุการ แล้วให้มีประธานซึ่งกำหนดจากส่วนกลางไปเป็นประธานในคณะชุดนี้อีก ๑ คน รวมทั้งสิ้น ๑๑ คน
๓. ชี้แจงหลักเกณฑ์วิธีการได้มาของคณะอนุกรรมการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. กำหนดในรายละเอียดต่อไป
๔. ช่องว่างในระหว่างที่ยังไม่มีบอร์ด ขณะนี้มีหลายเขตพื้นที่หลายจังหวัด ที่ยังดำเนินการตามคำสั่ง ๑๙ เดิม ยังไม่สิ้นสุด ในบทเฉพาะกาลกำหนดเอาไว้ว่า "การใดดำเนินการยังไม่สิ้นสุดอยู่ระหว่างดำเนินการให้ดำเนินการต่อไปให้จบ" ซึ่งเขตพื้นที่ต้องสำรวจว่ามีพันธกิจใดที่ค้างท่ออยู่ในการดำเนินการ แล้วดำเนินการไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไร ต้องรีบรายงานขึ้นมายัง สพฐ. เพราะวันนี้ สพฐ. ตั้งคณะทำงานมา ๑ คณะ ที่จะรองรับเพื่อกำหนดแนวทางการตีความว่า อะไรที่เรียกว่าค้างท่อ และอะไรที่เรียกว่ายังไม่ดำเนินการ โดยจะนำรายละเอียดทั้งหมดเข้าสู่อนุกฎหมาย เพื่อให้เขาตีความและกำหนดกรอบในการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้งานสะดุด
๕. สพฐ.จะจัดทำคู่มือในการบริหารงานบุคคลของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ ให้ทุกเขตพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกัน
๖. เขตพื้นที่ต้องออกแบบโครงสร้างเพื่อรองรับ พรบ. ที่เกิดขึ้น สำหรับการบริหารงานบุคคล ทั้งระบบงาน ระบบคน และระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ ท้าทาย ผอ.เขตอย่างมาก และที่เขาบอกว่า "แต่ก่อนอำนาจอยู่เขตพื้นที่ ก่อให้มีปัญหาอุปสรรค การบริหารงานบุคคลไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้" จึงได้มี กศจ. แต่เมื่อมีแล้วบอกว่า "งานล่าช้า ไม่ทันต่อการบริหารจัดการ ควรกับไปที่เขต" ดังนั้น เมื่อกลับมาแล้ว ต้องไม่ให้ใครบอกได้ว่า "ว่าแล้ว จะเป็นเหมือนเดิม" แต่ต้องเป็น "ใช่แล้ว น่าจะเป็นแบบนี้ตั้งแต่ต้น" ซึ่งจะต้องทำให้เห็นว่า "ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก" คือทำให้เห็นว่า "การที่มีเขตพื้นที่นี่แหละ การขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงมีคุณภาพ มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่นี่แหละ จึงตอบโจทย์การบริหารงานบุคคลและมีประสิทธิภาพ คือนำคนไปขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับบริบทที่ควรจะเป็น"
๗. สพฐ. สามารถออกแนวปฏิบัติเพิ่มเติมในรายละเอียดได้ ซึ่งอาจไปพูดคุยในเรื่องขององค์ประกอบของคณะกรรมการ ๕ ท่านในลำดับต่อไป

จากนั้น คณะผู้บริหารของ สพฐ. ชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ต่อไป
- นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เน้นย้ำภาระหน้าที่ที่จะเกิดขึ้นของ ผอ.สพท. หลังจาก ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เป็นต้นไป ใน ๓ ประเด็น ได้แก่ ๑) เป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรอง (บรรจุแต่งตั้ง/โยกย้าย) ๒) ในฐานะเลขานุการของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ ๓) เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง
- นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ ได้เน้นย้ำให้ ผอ.สพท. รอง ผอ.สพท. และกลุ่มบริหารงานบุคคล ได้วิเคราะห์ สังเคราะห์ ส่วนงานที่ค้างท่อ อันเป็นสิทธิและประโยชน์ของครู โดยรวบรวมส่งมายัง สพฐ. ภายในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ เพื่อที่ สพฐ. เร่งดำเนินการต่อไป

และท้ายการประชุม นายอัมพร พินะสา ได้กล่าวสรุปการประชุม พร้อมเสริมเพิ่มเติมเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. เสริมเพิ่มเติมว่า รายละเอียดการปฏิบัติ สองวัน พรุ่งนี้ มะรืน สพฐ ร่วมกับ ก.ค.ศ. จะไปออกแบบงานธุรการ อาทิ ประกาศสรรหาในแต่ละองค์ประกอบ โดยมีแบบฟอร์มออกไปให้ พร้อมกับปฏิทินการดำเนินงานในแต่ละส่วนงาน
๒. เขตแต่ละเขต ได้วิเคราะห์งานบุคคล เมื่อเป็น อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่แล้ว มีความจำเป็นต้องประชุม อ.ก.ค.ศ. กี่ครั้ง ในแต่ละช่วงงานภาระงาน เพื่อเป็นฐานในการออกแบบใช้เงินเท่าไร ดำเนินการอะไร ได้เพิ่มขึ้น เมื่อได้หลักการแล้ว ต่อไปคือการเตรียมการบริหารงาน
๓. การบริหารการประชุม อยากให้ท่าน ผอ.สพท. นำเสนอการประชุมด้วยตัวท่านเอง ส่วนให้ใครเสริม เพิ่มเติม ค่อยว่ากันลำดับต่อไป และทำงานร่วมกับประธานให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ในเรื่องการประสาน การเสนอวาระ หัวข้อประเด็น รวมทั้งสรุป ชี้แจงวาระก่อนถึงวันประชุม ซึ่งงานบุคคลจะสำเร็จได้ต้องเกิดจากการประสานงานและทำงานร่วมกัน

ดูภาพข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://photos.app.goo.gl/vGwjqors78Qej3hb9

คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ
คำบรรยายภาพ

เนื้อหาหมวดเดียวกัน

ข้อมูลการขับเคลื่อนคุณธรรมความโปร่งใส : 2566( ITA Online 2023)